การสอนและงานสถาปัตยกรรมไทยของพระพรหมพิจิตร

การสอนและงานสถาปัตยกรรมไทยของพระพรหมพิจิตร

รศ.สมใจ นิ่มเล็ก : ราชบัณฑิต
หน้าจั่ว.การสอนและงานสถาปัตยกรรมไทยของพระพรหมพิจิตร. ปีที่ 10 (2533)



        
                 ปรกติธรรมดาแล้วบุคคลหนึ่งบุคคลใดจะเป็นครูที่ดีนั้นสามารถเป็นได้ และการที่จะเป็นช่างที่ดีนั้นก็สามารถเป็นไปได้เหมือนกัน รวมทั้งสามารถเป็นเลิศในแต่ละอย่างได้ด้วย แต่ทว่าบุคคลนั้น ๆ จะเป็นเลิศได้ทั้งครูและช่างด้วยจะหาได้ยากมาก พระพรหมพิจิตร มิได้เป็นช่างหรือเป็นครูเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ท่านเป็นทั้งครูและช่างรวมทั้งเป็นเลิศทั้งสองอย่างด้วย ซึ่งหาได้ยากมากในกระบวนครูช่างของไทย ครูบางท่านเป็นครูที่ดีมีความสามารถในการสอนถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ได้ เป็นอย่างดี ทั้งที่ความรู้ความชำนาญในทางช่างน้อย ในทางกลับกันช่างบางท่านความรู้ความสามรถในทางช่างมีมาก ผ่านประสบการณ์มามากมายก็ยังไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้ศิษย์ได้ใกล้เคียง กับความรู้ความชำนาญที่มีอยู่ ในการเป็นครูของพระพรหมพิจิตร ลูกศิษย์มักเรียกท่านว่าอาจารย์พระพรหมนั้น ทราบกิตติศัพท์ความเป็นครูของอาจารย์จากลูกศิษย์รุ่นเก่า ๆ ของท่าน ทั้งทีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสถาปัตยกรรมไทย (ปัจจุบันคือคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งข้าราชการที่เป็นช่างของกรมศิลปากรว่าท่านมีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่นที่จะให้ลูกศิษย์ได้รับความรู้ความสามารถอย่างสูงส่ง พยายามถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้โดยมิได้ปิดบังหรือขยักเอาไว้เหมือนกับครูช่างท่านอื่น ๆ กิตติศัพท์นี้ทำให้อยากเรียนกับท่านก่อนที่จะได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย เพราะอาจารย์ที่สอนวิชาสถาปัตยกรรมไทยของโรงเรียนศิลปศึกษาเตรียม มหาวิทยาลัยศิลปากรนั้นก็เป็นศิษย์ของท่านและทำงานร่วมกับท่านมา ในขณะที่สอนนั้นก็ได้กล่าวถึงความเป็นครูของท่านอยู่ตลอดเวลา



                       ต่อมาเมื่อได้เข้าศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมไทยของมหาวิทยาลัยแล้ว ชั่วโมงของท่านนั้นพวกเราจะใจจดใจจ่อในการมาสอนของท่าน ขณะนั้นอายุของท่านมากแล้ว ห้องทำงานของท่านที่กรมศิลปากรก็ห่างจากห้องเรียน ท่านเดินไม่ค่อยไหวเดินช้า แม้กระนั้นท่านก็ไม่เคยเข้าสอนช้าเลย มีแต่ท่านต้องมานั่งคอย บางชั่วโมงท่านมาถึงก่อนเวลาด้วยซ้ำเมื่อมาถึงท่านจะไม่ยอมพักให้เสียเวลา แม้ท่านจะเหนื่อย พูดค่อย เสียงสั่นเครือ พวกเราจะต้องย้ายที่นั่งไปข้างหน้าชั้นกันจนหมด เพื่อจะได้จดจำคำสอนของท่าน บางทีเราจะมีข้อสงสัย ท่านก็จะอธิบาย แต่ด้วยสติปัญญาของเราตามท่านไม่ทัน ยังเข้าใจในสถาปัตยกรรมไทยไม่ลึกซึ้งพอ ทำให้ยังไม่เข้าใจถ่องแท้ แต่ก็ไม่กล้าถามท่านซ้ำ สงสารท่าน ท่านพูดแต่ละประโยคลำบากมาก แสดงอาการเหนื่อยให้พวกเราเห็นอยู่ทุกขณะ




















                     
               การสอนของท่านนั้นจะแทรกประสบการณ์ในการทาน การแก้ปัญหาพร้อม ๆ กับการสอนทางวิชาการ ท่านจะเริ่มสอนถึงชื่อส่วนสัดขององค์ประกอบต่าง ๆ  ของอาคารทางสถาปัตยกรรมไทยตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ เช่น ศาลาโถง ศาลาราย ศาลาดิน ศาลาลอย ศาลาการเปรียญ เจดีย์ ปรางค์ ตลอดถึงโบสถ์ วิหาร เริ่มแรกก็จะกล่าวถึงฐานแบบต่าง ๆ ที่ใช้รองรับอาคารชนิดใด ฐานอะไรควรใช้ก่อนใช้หลังหรืออยู่บนอยู่ล่าง เช่น เริ่มจากฐานเสริม ฐานเขียง ฐานหน้ากระดาน ฐานบัว ฐานสิงห์ องค์ประกอบของฐานแต่ละอย่างมีอะไรบ้าง สัดส่วนเป็นอย่างไร รวมทั้งแทรกถึงโครงสร้างด้วย ท่านจะเน้นอยู่ตลอดเวลาทั้งความเป็นจริง ความเป็นไปได้ ความถูกต้องของโครงสร้าง ทั้งยังรวมไปถึงความสวยงามด้วย ดังตัวอย่างฐานทุก ๆ ชนิด ตั้งแต่ฐานเขียง ฐานหน้ากระดาน ฐานบัว ฐานสิงห์นั้น แต่ละฐานจะมีลักษณะที่ยื่นออกและเว้าเข้า เสาหรือตัวอาคารที่ตั้งอยู่บนฐานนั้น ๆ จะเลยออกจากส่วนที่เว้าเข้ามากที่สุดไม่ได้ ฐานทุกชนิดจะมีแนวที่เสาหรือตัวอาคารจะต้องไม่ยื่นล้ำออกไปเป็นหลักของโครง สร้างที่เสาจะต้องผ่านลงไปยังพื้นดินเพื่อเป็นคลองรากหรือฐานรองรับตัวอาคาร ต่อไป



 
                 ในการขึ้นรูปด้านของหลังคาไม่ว่าจะเป็นศาลาขนาดเล็กหรือโบสถ์ขนาดใหญ่ ถ้าหลังคานั้นมีลักษณะลดหลั่นกันหลายตับในแต่ละตับจะต่อเชื่อมกัน ท่านพยายามชี้เน้นถึงความถูกต้อง การให้คะแนนผ่านหรือตกก็ตรงจุดนี้เอง ท่านจะกำชับว่าในการขึ้นรูปด้านหลังคานั้นอย่าขึ้นรูปด้านก่อน แต่จะต้องขึ้นด้านจากโครงสร้าง ไม่ว่าอาคารนั้นจะมีหลังคากี่ตับ กี่ซ้อนก็แล้วแต่ จะต้องเขียนโครงสร้างคือแนวของแป แนวของกลอนรวมถึงแนวของกระเบื้อง การต่อของหลังคาแต่ละตับ ความสูงของหลังคาแต่ละซ้อนให้ถูกต้องตามวิธีการก่อสร้างที่สามารถก่อสร้าง ได้ นักศึกษาไม่สามารถแย้งท่านได้เลย เพราะเมื่อขึ้นโครงสร้างของหลังคาได้แล้ว การตกแต่งการใส่องค์ประกอบให้เป็นรูปด้านที่สมบูรณ์ ความวิจิตรสวยงาม ความสง่าในเชิงสถาปัตยกรรมไทยจะบังเกิดขึ้นอย่างมหัศจรรย์ ผิดกับการที่เราขึ้นรูปด้านก่อนให้สวยงามตามความพอใจแล้ว เมื่อเขียนโครงสร้างของหลังคาก็จะเกิดปัญหาเส้นโครงสร้างแนวของกระเบื้องไม่ ต่อเนื่อง การเชื่อมต่อของหลังคาแต่ละตับต่อกันไม่ได้ ซึ่งจะต้องทำการแก้รูปด้านใหม่








           การที่ท่านต้องเน้นโครงสร้างจุดนี้ก็คือ เส้นของแนวกระเบื้องหรือเส้นของแนวกลอนที่รองรับกระเบื้องแต่ละตับของ หลังคามีความลาดที่เป็นองศาไม่เท่ากันปลายของกลอนจะบดให้อ่อนแล้ววางอยู่บน สะพานหนูเหนือเชิงกลอนระยะจากริมในของเชิงกลอนถึงแปหัวเสาจะต้องมีช่องว่าง พอให้ตีนผีจากหางหงส์หรือนาคเบือนสอดลงได้จากด้านบน และช่องว่างนี้ต้องมีความกว้างพอที่จะให้รวยระกาหรือลำยองของหลังคาตับล่าง สอดเข้าได้พอดี การพอดีนี้ก็คือเส้นแนวกระเบื้องจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมตรงที่ต่อกับ เชิงแป ช่องว่างนี้ถ้าแคบไปรวยหรือลำยองจะล้นขึ้นไปติดกับเชิงกลอนจะเป็นผลทำให้แนว ของเส้นใบระกาสูงเกินมุมตัดของสะพานหนูกับผิวนอกเชิงกลอน รวมทั้งแนวกระเบื้องยังไม่สามารถสอดเข้าไปใต้เชิงกลอนได้ ตามหลักของสถาปัตยกรรมไทยแล้วเป็นไปไม่ได้
               การเขียนแบบสถาปัตยกรรมไทยไม่ว่าเป็นงานชนิดใดส่งอาจารย์พระพรหมพิจิตรนั้น ถ้าท่านตรวจแบบท่านจะตรวจความถูกต้องตามที่กล่าวมาทั้งที่ฐานของอาคาร การต่อของโครงสร้างที่หลังคาก่อนอื่นถ้าตรวจแล้วผิดไม่ถูกต้อง เป็นไปไม่ได้ตามหลักเกณฑ์ท่านจะให้แก้ใหม่ หรือให้ตกทันที โดยมิตรวจส่วนอื่น ๆ อีก
               วิธีการสอนของท่านทำให้ศิษย์ทุกคนได้รับความรู้ทัดเทียมกัน แต่เรื่องฝีมือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะเท่าเทียมกันทุกคนไม่ได้ ท่านสอนจนศิษย์ทุกคนเขียนแบบได้ด้วยตนเอง เพราะท่านให้งานทำบนกระดาษปอนด์ขาวไม่ให้ใช้กระดาษไขเป็นอันขาด ในสมัยที่ท่านสอนนั้นการเขียนแบบด้วยโต๊ะไฟยังไม่มี ลูกศิษย์ผู้หนึ่งผู้ใดใช้เนื่องจากทุกคนต้องการความรู้ ต้องการเขียนแบบเป็นมิใช่เป็นการศึกษาเพื่อต้องการคะแนนเท่านั้น การลอกแบบหรือที่เรียกกันว่าก๊อปปี้จึงไม่เกิด การเขียนแบบบนกระดาษปอนด์ขาวนั้นคงทราบว่ายาก ยิ่งเขียนแบบสถาปัตยกรรมไทยเมื่อเขียนแล้วลบหลาย ๆ ครั้งกระดาษจะเปื่อยเป็นขุยเมื่อต้องการเปลี่ยนกระดาษ ก็ต้องเริ่มขึ้นทรงกันใหม่เนื่องจากไม่สามารถวางทางหรือลอกใหม่ได้ ดังนั้นงานภาคปฏิบัติแต่ละชิ้นที่อาจารย์พระพรหมพิจิตรให้ จึงมิใช่เขียนเพียงครั้งสองครั้ง การที่เขียนมากทำให้เกิดความชำนาญ สายตาแม่น ความรักความผูกพันในสถาปัตยกรรมไทยจึงซึมซาบเข้าไปในความรู้สึก ดังนั้นจะเห็นได้ว่าศิษย์ที่ได้ผ่านการเรียนกับท่านมาทุกคนจะไม่ทอดทิ้งงาน ทางสถาปัตยกรรมไทยเลย ถ้ามีโอกาสได้ทำงานก็จะแสดงฝีมือแสดงความสามารถอย่างเต็มที
               การเรียนเขียนแบบสถาปัตยกรรมโดยทั่วไป การเขียนแบบสถาปัตยกรรมนั้นจะต้องขึ้นรูปทรงของหลังคาก่อนแทนที่จะต้องเริ่ม ต้นจากผังพื้นเหมือนกับเขียนแบบสถาปัตยกรรมแบบอื่น แต่ในการขึ้นทรงของหลังคานั้นอาจารย์จะกำชับเสมอว่า ในสมองของเราจะต้องคิดว่ากำลังคิดหรือออกแบบอาคารชนิดใด ลักษณะของอาคาร ประโยชน์ใช้สอยเป็นอย่างไร ขนาด สัดส่วนจองอาคารเป็นเท่าใด เมื่อสมองคิดอยู่ตลอดเวลาทรงของหลังคาก็จะออกมาสอดคล้องกับงานสถาปัตยกรรม ไทยที่ต้องการ เมื่อตรวจสอบความถูกต้องของหลังคา เช่น การซ้อน การต่อของตับ และทรวดทรงรวมทั้งความสวยงามแล้วว่าใช้ได้ จึงจะเริ่มเขียนตัวอาคารต่อไป แต่ถ้าพบว่าผิดมีความเป็นไปไม่ได้ จะต้องแก้ไขทันทีก่อนการเขียนตัวอาคาร ถ้าปล่อยไปการเขียนแบบนั้นจะสูญเปล่าทันที เพราะอาจารย์จะให้ตกดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว