วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สถาปัตยกรรมไทย รำลึก



สถาปัตยกรรมไทยรำลึก

คำนำจากหนังสือ จุลสถาปนิกสาร คณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ .2505

ก่อนที่ชนเผ่าไทยจะอพยพลงมาสู่แหลมทอง ดินแดนส่วนนี้ ก็เจริญรุ่งเรืองตามแบบฉบับบของเชื้อชาติที่ปกครองอยู่ ศิลปะวิทยาการอันรุ่งโรจน์มาตามโบราณกาลนับกว่าพันปี ทำให้โลกยอมรับว่า เอเชียมีแหล่งอารยธรรมอันสูงส่งอีกแหล่งหนึ่งซึ่งมิใช่จีน หรืออินเดีย แต่หากเป็นสุวรรณภูมิ เมื่อชนเผ่าไทยอพยพลงมาสู่แหลมทอง ราวพันปีแล้ว บรรพบุรุษผู้เข้มแข็ง ได้แผ่อิทธิพลขับเคี่ยวกับเจ้าถิ่นเดิมเป็นเวลานาน จนสามารถครอบครองดินแดนส่วนนี้ จากพื้นฐานอันมั่นคง ในทางศิลปะของชนชาติเดิมรวมทั้งอิทธิพลของพุทธศาสนา อารยธรรม และวัฒนธรรมเดิมหลายเผ่าชน เผ่าไทยได้ริเริ่มสร้างสรรค์ศิลปะและ อารยธรรม อันวิจิตร ประณีต ลึกซึ้งและละเอียดอ่อน จนเป็นศิลปะแห่งชาติที่เหมาะสมเป็นสักขีพยานยืนยันว่า ไทยเราก็มีศิลปอารยธรรมอันรุ่งโรจน์ที่ชาวไทยทุกคนควรรู้สึก หยิ่งและภูมิใจ ที่เราเป็นคนไทย

ต่อมาในยุครัตนโกสินทร์ อิทธิพลของชาวยุโรปได้เริ่มครอบงำทั่วภาคพื้นเอเชีย ด้วยพลังในการรบอันเข้มแข็งและวิชาการอันก้าวหน้า ทำให้เขาสามารถควบคุมดินแดนอันอยู่โพ้นทะเลในเอเชียให้อยู่ภายใต้เงื้อมมือ ความเจริญก้าวหน้าแห่งยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของตะวันตก ความมหัศจรรย์แห่งเทคนิควิชาการแผนใหม่ ตลอดจนเครื่องจักร เครื่องยนต์กลไกแบบปัจจุบันได้สั่นสะเทือนถึงรากแก้วแห่งอารยธรรมแบบนามธรรมของเรา ปลุกให้เราตื่นขึ้น บังคับให้เราเอาอย่างเพื่อความคงอยู่ ในระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อของการปรับปรุงประเทศชาติให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อให้เทียบทันอารยธรรมแบบรูปธรรม การพยายามก้าวหน้าอย่างรีบรุด ทำให้ศิลปะ วัฒนธรรมแบบฉบับที่ดีงามของชาติ ได้ถูกทอดทิ้งละเลยโดยไม่มีโอกาสได้รับการประยุกต์ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับกาลเวลา ชาติจึงขาดแบบฉบับที่จะใช้เป็นแนวทางศิลปะ อีกทั้งสถาบันชั้นสูงที่ส่งเสริมควบคุมศิลปะและวัฒนธรรมอันดีงามก็ยังมีน้อย

เหมือนกับเรือที่ขาดหางเสือ หรือเมืองที่ปราศจากปราการ ป้องกันอิทธิพลของชาวต่างประเทศไหลบ่าเข้าดุจดังกระแสธารอันเชี่ยวกราก ลัทธิคลั่งไคลหลงลอกเลียนแบบชาติอื่น โดยไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสมของดินฟ้าอากาศเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ตลอดจนความต้องการอันแท้จริงของประเทศชาติ จึงกลายเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาขึ้นทั่วไป พาณิชยศิลปะ และลัทธิวัตถุนิยมอันถูกประณามว่าเป็นศิลปะชั้นต่ำในต่างประเทศ กำลังไหลบ่าอย่างไม่ขาดสาย สร้างความขัดแย้ง ทำลายความกลมกลืนกับแบบฉบับอันดีงามที่ปรากฏแต่อดีตในขณะนี้ มรดกตกทอดในลักษณะศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ กำลังเสี่ยงต่อความหายนะเป็นอย่างยิ่ง

ตามสภาพการณ์ที่ปรากฏอยู่ย่อมเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วว่าเราไม่อาจนำศิลปนามธรรมแบบโบราณมาใช้ให้เกิดผลดีต่อไป ในขณะเดียวกับการลอกเลียนแบบ ยืมจมูกต่างประเทสมาหายใจโดยมิได้คำนึงถึงความจำเป็นและเหมาะสม ก็เป็นการทำลายเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งชาติ และจะไม่เป็นการอำนวยให้เกิดศิลปะที่ถูกต้อง ฉะนั่นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมในแนวใหม่ ในลักษณะที่สอดคล้องกลมกลืน และต่อเนื่องเป็นวิวัฒนาการกับอดีตแห่งความรุ่งโรจน์ เทคนิคปัจจุบันจะถูกนำมาปรับใช้ เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้า ตามความจำเป็นแห่งยุคสมัย นั่นคือ ภาระและหน้าที่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรได้รับมอบหมายให้แก้ปัญหาอันยิ่งใหญ่ของชาติ และด้วยแรงปณิธานอันนี้ เรา คณะสถาปัตยกรรมไทย จักขอยืนหยัดอยู่ต่อไป ในอันที่จะสร้างสรรค์จรรโลง ส่งเสริมศิลปะ และสถาปัตยกรรมแห่งชาติให้ก้าวหน้า เจริญตามวิถีทางที่ดี ที่ถูก ที่ควรต่อไป.



อ่านเพิ่มเติม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น