วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

โครงการบรรยายวิชาการวาระ 25 ปี หลักสูตรประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม

ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมศาสตร์ศึกษา
History of Architecture 25th Anniversary Lecture Day
                       18 ธันวาคม 2553, December 18, 2010
            ห้องประชุม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร


 หัวข้อบรรยาย
ประวัติศาสตร์รับใช้สังคมหรือยัง
โดย รศ.เสนอ นิลเดช

ความเปลี่ยนแปลง “ พื้นที่ ” และ “ เวลา ”
ในประวัติศาสตร์และนัยยะทางการเมือง
โดย ศาสตราจารย์ สายชล สัตยานุรักษ์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศิลปะและสถาปัตยกรรมพม่าและเบงกอล
โดย ผศ.ดร.โชติมา จตุรวงศ์

องค์ความรู้ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมใน
บริบทการเมืองไทย
โดย อ.ชาตรี ประกิตนนทการ

พัฒนาการเรือนพักอาศัยริมน้ำ ลุ่มแม่น้ำภาคกลาง
โดย อ.ดร.ประติมา นิ่มเสมอ

การศึกษาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม
วัดพระพายหลวง วัดเชตุพน สุโขทัย
โดย อ.ปองพล ยาศรี
      อ.ตะวัน วีระกุล

“ อัฏฐารส ” คติความเชื่อและการสร้างสรรค์งานพุทธศิลป์
โดย อ.บุณยกร วชิรเธียรชัย

อัตลักษณ์ในงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทย
                       ของ
สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
โดย รศ.สมคิด จิระทัศนกุล

จารึกวัดโพธิ์กับการศึกษาเพื่อสันนิษฐาน
รูปแบบทางสถาปัตยกรรม
โดย อ.พีระพัฒน์ สำราญ

- เสวนาวิชาการ
ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมแบบตะวันตก
ในสยาม
โดย ผศ.สมชาติ จึงสิริอารักษ์
คุณศรัณย์ ทองปาน
นักวิชาการอิสระและกองบรรณาธิการ วารสารเมืองโบราณ
และ อ.ดร.วิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อัตราค่าลงทะเบียน (รวมค่าลงทะเบียนการประชุม 1 วัน)
    150 บาท สำหรับบุคคลทั่วไป     นักเรียน นักศึกษาไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

การชำระเงินค่าลงทะเบียน
ให้ชำระค่าลงทะเบียนในวันประชุม

หมายเหตุ    เอกสารประกอบการประชุม สงวนสิทธ์สำหรับผู้ลงทะเบียนและชำระค่าลงทะเบียนล่วงหน้าเท่านั้น การลงทะเบียน และชำระค่าลงทะเบียนในวันงานท่านอาจไม่ได้รับเอกสารประกอบการประชุม




ลงทะเบียนร่วมการประชุม

อีเมล์: thaiarch_su@yahoo.com โทรศัพท์: 02 221 5877 โทรสาร: 02 2218837

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
31 ถนนหน้าพระลาน เขตพระนคร กรุงเทพ 10200

ภาควิชา ศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดรับสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับ ปริญญามหาบัณฑิต

หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต 

สาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย

 

 

ชื่อหลักสูตร
สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย
Master of Architecture Program in Thai Architecture

ชื่อปริญญา
สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (สถาปัตยกรรมไทย)
สถ.ม. (สถาปัตยกรรมไทย)
Master of Architecture (Thai Architecture)
M.Arch. (Thai Architecture)

วัตถุประสงค์หลักสูตร
เพื่อผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรู้ในการออกแบบทั้งสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณีและ
สถาปัตยกรรมไทยแบบร่วมสมัย นอกจากนั้นนักศึกษายังมีความรู้ด้านการวิจัย ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม
ตลอดจนการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ซึ่งสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย อาทิเช่น สถาปนิก อาจารย์
นักเขียน นักอนุรักษ์ สถาปัตยกรรม และประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษา
• สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิตในสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ หรือ
สถาปัตยกรรมไทย
• มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยศิลปากร ว่าด้วยการศึกษา
ระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2550

จำนวนหน่วยกิต
กำหนดให้ศึกษารายวิชาไม่น้อยกว่า 49 หน่วยกิต
เป็นการศึกษาแบบทำวิทยานิพนธ์
(ไม่มีการสอบประมวลความรอบรู้)

ระยะเวลาการศึกษา
2 ปีการศึกษา แต่ไม่เกิน 5 ปีการศึกษา

เปิดรับสมัครรอบแรก  พ.ย.2553 -  ม.ค.2554!!!!


หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
 สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม
 
ชื่อหลักสูตร
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม
Master of Arts Program in History of Architecture
 
ชื่อปริญญา
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม)
ศศ.ม. (ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม)
Master of Arts (History of Architecture)
M.A. (History of Architecture)
 
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
เพื่อผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม
การวิจัย และ การอนุรักษ์สถาปัตยกรรม 
ซึ่งสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย อาทิเช่น อาจารย์
นักเขียนทางด้านสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ 
นักวิจัย มัคคุเทศน์ และนักอนุรักษ์สถาปัตยกรรม เป็นต้น
 
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษา
  สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิตในสาขาวิชาที่มีการเรียนการสอนด้าน
   ประวัติศาสตร์ศิลป์ ทัศนศิลป์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ หรือ สถาปัตยกรรมไทย
  มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยศิลปากรว่าด้วยการศึกษา   
   ระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2550
 
จำนวนหน่วยกิต
กำหนดให้ศึกษารายวิชาไม่น้อยกว่า 43 หน่วยกิต
เป็นการศึกษาแบบทำวิทยานิพนธ์
(ไม่มีการสอบประมวลความรอบรู้)
 
ระยะเวลาการศึกษา
2 ปีการศึกษา แต่ไม่เกิน 5 ปีการศึกษา
 

วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประวัติคณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร 2498-2510



ประวัติคณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร
  1. สภาพมหาวิทยาลัยก่อนและหลัวโอนไปสังกัดสำนักนายกมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2486 เพื่อผลิตบัณฑิตทางศิลป สาขาต่างๆ สังกัดกรมศิลปากรและอยู่ในบริเวณเดียวกัน โดยมีอธิบดีเป็นผู้อำนวยการ และอาจารย์ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการกรม ในระยะ 12 ปีแรกได้มีการเปิดสอนจิตรกรรมประติมากรรมเพียงคณะเดียว ต่อมาใน พ.ศ. 2498 ได้เปิดคณะต่างๆเพิ่มขึ้นอีก 3 คณะ คือ มัณฑนศิลป์ โบราณคดีและสถาปัตยกรรมไทย นอกจากมหาวิทยาลัยแล้วกรมศิลปฯ ยังมีโรงเรียนอาชีวะศึกษาขั้นต้นอีกสองโรงเรียนอยู่ในสังกัด คือ โรงเรียนนาฏศิลปะและโรงเรียนศิลปะศึกษา ในด้านการบริหาร กรมศิลปฯ ไม่พร้อมที่จะดำเนินงานทางด้านบริหารเนื่องจากขาดบุคลากรทางด้านการบริหารการศึกษานอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีผลกระทบกระเทือนต่อกรมศิลปากรทำให้บุคคลชั้นนำลดจำนวนลงไปมาก จนอาจกล่าวได้ว่าในสมัยหลังกรมศิลปฯ มิได้เป็นแหล่งรวมของนักปราชญ์ราชบัณฑิตเช่นในสมัยก่อน การบริหารมหาวิทยาลัยเป็นการบริหารคละกันไปกับหน่วยราชการของกรมศิลปากรเอง ความเป็นสถาบันจึงไร้ความหมาย คณะต่างๆ ประหนึ่งเป็นแผนกเล็กๆ สำนักเลขาที่ข้าราชการกรมฯ เป็นผู้ควบคุมแต่ละคณะจึงไมมีสำนักเลขา  หรือสำนักงานคณบดีไม่มีประจำแผนก หน่วยธุรการ แม้แต่เครื่องพิมพ์ดีด โทรศัพท์ เครื่องอัดสำเนา หรืออุปกรณ์การสอนบางคณะไม่มีแม้แต่ภารโรง ต้องใช้ร่วมกับส่วนกลางมีธุระอะไรก็ต้องไปอ้อนวอนให้เกองกลางช่วยเหลือคณะจะบรรจุคนเข้าไปได้ก็ได้แต่ในฐานะ “ลูกจ้าง” งบประมาณประจำปีที่ได้รับก็ต่ำมาก เช่นคณะสถาปัตยกรรมไทยในปี 2501 ได้รับเพียงปีละ 40,000 บาทเศษ ภายหลังสมนาคุณคณะบดีแล้วก็มีเงินเหลือเพียงหมื่นบาทเศษๆ สำหรับเป็นค่าจ้างอาจารย์พิเศษ กับค่าใช้จ่ายต่างๆ จิปะถะไม่เกินความจริงที่จะกล่าวว่าโครงสร้างมหาวิทยาลัยถูกจัดให้เป็นแบบ “เบี้ยล่าง” ไม่มี “เอกเทศ” ไม่อาจดำเนินงานอย่ามีประสิทธิภาพเช่นสถาบันอื่นๆ ก่อน พ.ศ. 2501 เคยปรากฏข่าวว่า “ผู้ใหญ่” พิจารณาจะให้ยุบมหาวิทยาลัยศิลปกากรหลายครั้งสิ่งที่ยับยั้งคือเหตุผลทาง “การเมือง” สภาพโดยทั่วไปแล้วมหาวิทยาลัยศิลปากรมีความเป็นอยู่ค่อนข้างแออัด เรียนกันในอาคารไม้ชั่วคราวและตึกเล็กๆ ซอมซ่อ 5-6 หลัง มีนักศึกษาทั้งหมดประมาณไม่เกิน 300 คน (พ.ศ. 2504) อยู่ในพื้นที่ 2.9 ไร่ พ.ศ. 2503 รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ. โอนมหาวิทยาลัยไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มหาวิทยาลัยศิลปากรได้รับความช่วยเหลือในด้านงบประมาณ บุคลากร และวิชาการเรื่อยมาและมีฐานะกระเตื้องขึ้นเป็นลำดับ แต่ก็ยังช้ามาเมื่อเทียบกับสถาบันแห่งอื่นๆ เพราะสำนักนายกฯ ไม่ได้เข้าไปควบคุม ปล่อยให้กรมศิลปากรบริหารต่อไปการพัฒนามหาวิทยาลัยจึงเป็นไปอย่างเชื่องช้าไม่เป็นที่พอใจแก่นักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยซึ่งได้ประท้วงอย่างรุนแรงในปลายปี 2507 สภาการศึกษาแห่งชาติซึ่งเข้าไปรับงานบริหารมหาวิทยาลัยจากสำนักนายกฯต้องเข้าไปแก้สถานการณ์ โดยแต่งตั้งอธิบดีเข้าไปบริหารแทนผู้อำนวยการ (อธิบดีกรมศิลป์) ใน พ.ศ. 2508 และแก้ไขกฏระเบียบต่างๆ ให้สามารถพัฒนามหาวิทยาลัยได้อย่างคล่องตัว นับว่ามหาวิทยาลัยศิลปากรได้แยกตัวออกจากกรมศิลปากรอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

1.1      ประวัติการสอนสถาปัตยกรรมในมหาวิทยาลัยศิลปากรโดยสังเขป ( พ.ศ. 2498 )
คณะสถาปัตยกรรมไทยเป็นหนึ่งในสี่คณะของมหาวิทยาลัยศิลปากรเริ่มเปิดทำการสอนเมื่อเดือนมิถุนายน 2498 มีหน้าที่ฝึกสอนนักศึกษาให้มีความรู้ในวิชาชีพการช่างสถาปัตยกรรม


ข) ยุคสถาปัตยกรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2507 )
ได้รับการสนับสนุนในด้านงบประมาณและมีความเป็นอยู่ทัดเทียมกับสถาบันอื่นๆ และมีแนวการสอนเป็นแบบสากล
ข.1 ) สมัยเปลี่ยนแปลง ศ.สมภพ ภิรมย์ เป็นคณบดี ( พ.ศ. 2507-2515) ตอนแรกเป็นการเรียนการสอนแบบสถาปัตยกรรมไทยโดยอนุโลม ตั้งแต่ พ.ศ. 2509 ได้มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ หลายประการ เช่น กฎระเบียบ หลักสูตรการเรียนการสอนและเวลาเรียน เน้นการสอนไปในทางสากลนิยมแบบสถาบันการศึกษาอื่นๆ เปลี่ยนชื่อคณะเป็น “คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์” ศ.แสวง สดประเสริฐ รักษาการในตำแหน่งคณบดี (พ.ศ. 2515-2516) สอนในแนวเดียวกันกับสมัยเปลี่ยนแปลงตอนหลัง
ข.2) สมัยขยายการศึกษา ศ.ม.ร.ว.ทองใหญ่ ทองใหญ๋ เป้นคณยดี (พ.ศ. 2516-2520) และ อ.วรรณะ มณี เป็นคณบดี (พ.ศ. 2520-2523) สอนตามแนวสถาปัตยกรรมสาสตร์แต่มีการเพิ่มวิชาเลือก (พื้นฐาน) หลายวิชา และได้เปิดสอนวิชาประกาศนียบัตรชั้นสูงสาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย และวิชาออกแบบชุมชนและผังเมืองระดับปริญญาโท อย่างเป็นเอกเทศต่อไป
ข.3) สมัย รศ. อรสิริ ปาณินท์ เป็นคณบดี

สมัยปฏิรูปและเร่งพัฒนา
การปฏิบัติหน้าที่ของคณะสถาปัตยกรรมไทยอาจแบ่งออกเป็นสองประการคือ

งานประจำ คืองานที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ. มหาวิทยาลัย และระเบียบข้าราชการ เช่นดูแลอาคารสถานที่ ควบคุมบริหารอาจารย์ข้าราชการนักศึกษาให้อยู่ในระเบียบวินัยอันดี ฝึกฝนอบรมนักศึกษาในวิชาชีพสถาปัตยกรรม ให้มีความรู้ตามหลักสูตรแนวการสอนของคณะ ปรับปรุงส่งเสริมให้คณะสถาปัตยกรรมไทยเป็นสถาบันการเรียนของชาติ โดยการขยายการศึกษา กำหนดหลักสูตรอาจารย์ผู้สอน จัดหาอาคารสถานที่ ตั้งหน่วยธุรการเพ่อส่งเสริมกิจการของคณะ ฯลฯ

งานพิเศษ คืองานที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษต่างหาก เช่นปฏิบัติงานบ้างอย่างเป้นครั้งคราว หรืองานออกแบบเขียนแบบศิลปกรรม การวางแผนพัฒนา การวางโครงการก่อสร้างสำหรับกรมและมหาวิทยาลัยศิลปากร แม้ว่าทางคณะจะมีอาจารย์ที่เพิ่งจบมาเป็นจำนวนน้อย ก็พิจารณาเห็นสมควรที่จะรับงานเหล่านี้ โดยเปิดสำนักสถาปนิกทำการออกแบบก่อสร้างให้แก่คณะต่าง ๆ และมหาวิทยาลัย เพื่อฝึกฝนอาจารย์นักศึกษาให้มีความรู้เชี่ยวชาญด้านวิชาชีพ และเพื่อประโยชน์ของนักศึกษาชั้นสูงบางคน จะได้ฝึกหัดทำงานหรือไปดูงานก่อสร้างอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเรียนของคณะ

2.1) งานประจำ การปรับปรุงคณะให้เป็นสถาบันการสอนวิชาชีพ
เมื่อศาสตรจารย์พระพรหมพิจิตรขอลาอกจากตำแหน่งคณะบดี คณะสถาปัตยกรรมไทย ทางมหาวิทยาลัยก็ได้ติดต่อเชิญอาจารย์จากสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์หมาวิทยาลัยให้มาดำรงตำแหน่งรักาการคณะบดี และปรับปรุงคณะให้ก้าวหน้าทันสมัยยิ่งขึ้น ยังผลให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ ในด้านหลักสูตร อาจารย์ผู้สอน ข้าราชการ พนักงาน และอาคารสถานที่ตลอดจนระเบียบการต่างๆ ให้เข้มแข็งทันสมัยยิ่งขึ้น สมัยนี้เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2501- ต้นปี 2507 กล่าวได้ว่าเป็นสมัยแห่งการปฏิรูปและเร่งพัฒนา เป็นวาระแห่งการบุกเบิกเร่งรัดเสริมสร้างความเจริญให้แก่คณะสถาปัตยกรรมไทยในด้านการศึกษา มีนโยบายส่งเสริมและประยุกต์ศิลปสถาปัตกรรมแห่งชาติ ควบคู่กับการสอนในแนวเทคโนโลยีสมัยใหม่ ขยายการเรียนถึงขั้นปริญญา หลักสูตร 5 ปี จำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้น 26 ถึง 150 คน เรียนสัปดาห์ละ 6 วันแบบหน่วยกิตชั่วโมง (ซีเมสเตอร์) ใช้เวลาร่วม 6 ปี ปฏิรูปและพัฒนาคณะฯจนเข้าขั้นมาตรฐานสากล

2.2) ปรัชญาการศึกษา หลักสูตรและการสอนสถาปัตยกรรม
ทางคณะได้กำหนดนโยบายการเรียนเป็นแบบชาตินิยม สอนให้นักศึกษาซาบซึ้งในศิลปะสถาปัตยกรรมไทย และมรดกของชาติแต่ดั้งเดิม ควบคู่กันไปกับการศึกษาเทคโนโลยี วิทยาการสถาปัตยกรรมแบบใหม่ อันเป็นผลิตผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมแห่งโลก เพื่อประยุกต์สร้างสรรค์สถาปัตยกกรมใหม่แห่งชาติ ให้สอดคล้องกับความต้องการแห่งยุคปัจจุบัน และแสดงออกซึ่งเอกลักษณ์ วัฒนธรรมและภูมิธรรมประจำชาติ ให้สอดคล้องกับความต้องการแห่งยุคปัจจุบัน และสอดคล้องซึ่งเอกลักษณ์ วัฒนธรรมและภูมิธรรมประจำชาติที่มีมาแต่โบราณกาล
             
  1. มาตรฐานการศึกษา นโยบายการสอนต้องการให้นักศึกษามีความรู้ในด้านทฤษฎีและปฏิบัติในหลักการออกแบบสถาปัตยกรรมรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วจักได้เน้นไปในทางปฏิบัติงานอย่างสถาปนิกทั่วไปกระทำอยู่เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความสามารถออกแบบอาคารที่ใช้เป็นแบบก่อสร้างได้ทันทีที่สำเร็จการศึกษา (Practical Training) หลักสูตรขั้นอนุปริญญาใช้เวลา 3 ปี จักได้อบรมให้มีความรู้ความสามารถออกแบบสถาปัตยกรรมโบราณได้เป็นอย่างดี และออกแบบไทยสมัยใหม่ได้พอสมควร ส่วนในขั้นปริญญาหลักสูตร 5 ปีนั้นให้มีความรู้ความสามารถออกแบบสถาปัตยกรรมไทยโบราณและสมัยใหม่ได้ดี จนอาจสนองความต้องการของประเทศชาติทางสถาปัตยกรรมได้ครบถ้วน


  1. สถาปัตยกรรมแห่งชาติที่เป็นแบบวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมไทย ให้นักศึกษามีความเข้าใจซาบซึ้งในความเป็นมาของศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติแต่โบราณ ให้มีการศึกษา วิจัย ค้นคว้าสถาปัตยกรรมไทยเดิมแบบต่างๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นรากฐานของสถาปัตยกรรมไทย ทั้งนี้เพื่อจะได้นำเอาหลักการ ลักษณะ และแนวความคิดที่ดีงามมาสร้างสถาปัตยกรรมใหม่ตามความต้องการของยุคสมัยปัจจุบัน ในแนวทางซึ่งแสดงออกซึ่งเป็นลักษณะประจำชาติ, วัฒนธรรมอันดีงาม และหลักวิชาการช่างแบบปัจจุบัน
3.  การศึกษาโดยกว้าง ให้นักศึกษาได้ศึกษาโดยกว้างขวางถึงวิชาการที่มีความสัมพันธ์กับสถาปัตยกรรม เช่น วัฒนธรรม, ผังเมือง, เทคนิคการก่อสร้างแผนใหม่, ความเป็นอยู่ปัจจุบันทั้งให้สามารถค้นคว้าเลือกเอาเทคนิค, วิชาการที่ดีของชาวต่างประเทศมาใช้ ทั้งนี้เพื่อจักมาช่วยในการก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพ    การศึกษาจักได้สอนให้สามารถในการออกแบบก่อสร้างตามความต้องการของประเทศชาติ สามารถออกแบบได้ทั้งแบบราคาถูก ราคาปานกลาง และราคาแพง โดยคำนึงถึงหลักเศรษฐกิจ, สังคม และการปกครอง

  1. หน้าที่ของสถาปนิกกับงานช่างแขนงอื่น ให้นักศึกษาเข้าใจหน้าที่ของสถาปนิกปัจจุบัน ที่ต้องร่วมมือประสานงานกับช่างแขนงอื่นๆ เช่น ช่างไฟฟ้า ประปา นายช่างวิศวกร ช่างก่อสร้าง นายช่างผังเมืองอุตสาหกร ฯลฯ ทั้งนี้ก็เพื่อจักได้ออกแบบอาคารให้มีความสมบูรณ์ตามความต้องการปัจจุบันและอนาคต

  1. ความสัมพันธ์ระหว่างอาคารกับพื้นที่ ให้นักศึกษาเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างอาคารกับพื้นที่เมื่อออกแบบอาคารก็คำนึงถึงผังพื้นที่สามารถออกแบบอาคารเดี่ยว หรือกลุ่มอาคาร ในพื้นที่ที่กำหนดตามหลักวิชาการการวางผังพื้นที่

  1. การออกแบบตัวอาคาร ให้เข้าใจในหลักการของการออกแบบอาคาร โดยการใช้ที่ว่างภายในทางเดิน ให้เกิดประโยชน์ตามความจำเป็น ตลอดจนการเจาะช่องประตู หน้าต่าง การเลือกรูปร่างทรวดทรง โครงสร้าง วัสดุก่อสร้างที่ประหยัด เหมาะสมตามประโยชน์ใช้สอย ให้อาคารมีรูปร่างลักษณะที่สวยงาม เป็นการแสดงออกซึ่งศิลปกรรมและวัฒนธรรมแห่งชาติตามขอบเขตที่เหมาะสม

  1. การใช้เวลาหยุดเรียนให้เป็นประโยชน์ ระหว่างหยุดเรียนฤดูร้อน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 และชั้นปีที่3  จะได้ทำการฝึกเขียนแบบจำลองอาคารตัวอย่าง (Measured Drawing) และนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ไปทำการฝึกงานสถาปัตยกรรม (Architectural Practice) ทั้งจะได้พยายามเปิดการเรียน

คณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2498    คณะสถาปัตยกรรมไทยมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาการศึกษาของคระอยู่หลายครั้งจนมาเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญในประวัติของคณะฯ คือการปฏิรูปและพัฒนาในระหว่างปี พ.ศ.2501-2507 เพื่อขยายการศึกษาไปสู่มาตรฐานการศึกษาสากล จนเป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตสถาปนิกระดับปริญญาที่ได้มาตรฐานสถาบันการศึกษาขั้นสูงของชาติ                
ในขณะที่สถาบันการศึกษาสถาปัตยกรรมแห่งอื่นขณะนั้นมีพร้อมทั้งงบประมาณและสถานที่ คณะสถาปัตยกรรมไทยแรกตั้งขาดแคลนทุกอย่าง จากนักศึกษารุ่นแรกเพียง 9 คน ในปี พ.ศ. 2498 มาเป็น 26 คน ในปี พ.ศ.2501 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มปฏิรูปการศึกษา คณะสถาปัตยกรรมไทยมีแต่อาคารไม้ชั้นเดียวเพียง 1 หลังเป็นที่เรียน แม้จะขาดแคลนทั้งงบประมาณและสถานที่เป็นอย่างมาก ด้วยความเสียสละอย่างสูงและการอุทิศตนเพื่อความก้าวหน้าของการศึกษาสถาปัตยกรรมแห่งชาติอย่างจริงใจของคณาจารย์ ได้ฝ่าอุปสรรคคนานับประนับประการที่เกิดขึ้นขณะนั้นร่วมกับนักศึกษาพัฒนาคณะฯ ในทุกทาง จนเป็นสถาบันที่ได้มาตรฐานสากลในระยะเวลาเพียง 6 ปี หลังจากการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2501
แนวทางการศึกษาสถาปัตยกรรมคณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร
การเรียนในคณะสถาปัตยกรรมไทยเป็นแบบซีเมสเตอร์ Semester การศึกษาในระยะต้นจะได้รับการอบนมสั่งสอนให้ซาบซึ้งในศิลป วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมไทย ความเป็นมาตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงยุคปัจจุบัน หลายยุคหลายสมัยทั่วไปทั้งพระราชอาณาจักร ตลอดจนอิทธิพลของชาติข้างเคียง เช่น จีน อินเดีย เขมร มลายู ไทยเดิม ฯลฯ ที่มีต่อศิลปกรรมและวัฒนธรรมของชาติไทย จักได้นำเอาวิทยาศาสตร์วิชาการแผนใหม่มาวิจัยศึกษาค้นคว้าเพื่อให้เข้าใจในหลักเหตุผล ที่นำมาซึ่งรูปร่าง ลักษณะการจัดแผนผัง วิธีการก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ความงาน (Aesthetic) ฯลฯ ที่วิวัฒนาการมาเป็นสถาปัตยกรรมไทย ทั้งนี้จะได้พยายามเน้นในสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์หรือลักษณะประจำชาติ (National Character) ของสถาปัตยกรรมไทย ในขั้นปลายของการศึกษาจักได้นำเอาผลการวิจัยค้นคว้ามาประกอบหลักเทคนิควิทยาการและวิทยาศาสตร์แผนใหม่ มาสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมไทยยุคปัจจุบันให้เป็นวิวัฒนาการ ต่อเนื่องกับศิลปะสถาปัตยกรรมไทยเดิม ให้เป็นสถาปัตยกรรมแบที่เหมาะสม สามารถสนองความต้องการของประเทศชาติในปัจจุบันและอนาคตตามหลักเศรษฐกิจ สังคมและการปกครอง
 

วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การสอนและงานสถาปัตยกรรมไทยของพระพรหมพิจิตร

รศ.สมใจ นิ่มเล็ก : ราชบัณฑิต
หน้าจั่ว.การสอนและงานสถาปัตยกรรมไทยของพระพรหมพิจิตร. ปีที่ 10 (2533)



        
                 ปรกติธรรมดาแล้วบุคคลหนึ่งบุคคลใดจะเป็นครูที่ดีนั้นสามารถเป็นได้ และการที่จะเป็นช่างที่ดีนั้นก็สามารถเป็นไปได้เหมือนกัน รวมทั้งสามารถเป็นเลิศในแต่ละอย่างได้ด้วย แต่ทว่าบุคคลนั้น ๆ จะเป็นเลิศได้ทั้งครูและช่างด้วยจะหาได้ยากมาก พระพรหมพิจิตร มิได้เป็นช่างหรือเป็นครูเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ท่านเป็นทั้งครูและช่างรวมทั้งเป็นเลิศทั้งสองอย่างด้วย ซึ่งหาได้ยากมากในกระบวนครูช่างของไทย ครูบางท่านเป็นครูที่ดีมีความสามารถในการสอนถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ได้เป็นอย่างดี ทั้งที่ความรู้ความชำนาญในทางช่างน้อย ในทางกลับกันช่างบางท่านความรู้ความสามรถในทางช่างมีมาก ผ่านประสบการณ์มามากมายก็ยังไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้ศิษย์ได้ใกล้เคียงกับความรู้ความชำนาญที่มีอยู่ ในการเป็นครูของพระพรหมพิจิตร ลูกศิษย์มักเรียกท่านว่าอาจารย์พระพรหมนั้น ทราบกิตติศัพท์ความเป็นครูของอาจารย์จากลูกศิษย์รุ่นเก่า ๆ ของท่าน ทั้งทีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสถาปัตยกรรมไทย (ปัจจุบันคือคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งข้าราชการที่เป็นช่างของกรมศิลปากรว่าท่านมีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่นที่จะให้ลูกศิษย์ได้รับความรู้ความสามารถอย่างสูงส่ง พยายามถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้โดยมิได้ปิดบังหรือขยักเอาไว้เหมือนกับครูช่างท่านอื่น ๆ กิตติศัพท์นี้ทำให้อยากเรียนกับท่านก่อนที่จะได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย เพราะอาจารย์ที่สอนวิชาสถาปัตยกรรมไทยของโรงเรียนศิลปศึกษาเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากรนั้นก็เป็นศิษย์ของท่านและทำงานร่วมกับท่านมา ในขณะที่สอนนั้นก็ได้กล่าวถึงความเป็นครูของท่านอยู่ตลอดเวลา



                       ต่อมาเมื่อได้เข้าศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมไทยของมหาวิทยาลัยแล้ว ชั่วโมงของท่านนั้นพวกเราจะใจจดใจจ่อในการมาสอนของท่าน ขณะนั้นอายุของท่านมากแล้ว ห้องทำงานของท่านที่กรมศิลปากรก็ห่างจากห้องเรียน ท่านเดินไม่ค่อยไหวเดินช้า แม้กระนั้นท่านก็ไม่เคยเข้าสอนช้าเลย มีแต่ท่านต้องมานั่งคอย บางชั่วโมงท่านมาถึงก่อนเวลาด้วยซ้ำเมื่อมาถึงท่านจะไม่ยอมพักให้เสียเวลา แม้ท่านจะเหนื่อย พูดค่อย เสียงสั่นเครือ พวกเราจะต้องย้ายที่นั่งไปข้างหน้าชั้นกันจนหมด เพื่อจะได้จดจำคำสอนของท่าน บางทีเราจะมีข้อสงสัย ท่านก็จะอธิบาย แต่ด้วยสติปัญญาของเราตามท่านไม่ทัน ยังเข้าใจในสถาปัตยกรรมไทยไม่ลึกซึ้งพอ ทำให้ยังไม่เข้าใจถ่องแท้ แต่ก็ไม่กล้าถามท่านซ้ำ สงสารท่าน ท่านพูดแต่ละประโยคลำบากมาก แสดงอาการเหนื่อยให้พวกเราเห็นอยู่ทุกขณะ




















                     
               การสอนของท่านนั้นจะแทรกประสบการณ์ในการทาน การแก้ปัญหาพร้อม ๆ กับการสอนทางวิชาการ ท่านจะเริ่มสอนถึงชื่อส่วนสัดขององค์ประกอบต่าง ๆ  ของอาคารทางสถาปัตยกรรมไทยตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ เช่น ศาลาโถง ศาลาราย ศาลาดิน ศาลาลอย ศาลาการเปรียญ เจดีย์ ปรางค์ ตลอดถึงโบสถ์ วิหาร เริ่มแรกก็จะกล่าวถึงฐานแบบต่าง ๆ ที่ใช้รองรับอาคารชนิดใด ฐานอะไรควรใช้ก่อนใช้หลังหรืออยู่บนอยู่ล่าง เช่น เริ่มจากฐานเสริม ฐานเขียง ฐานหน้ากระดาน ฐานบัว ฐานสิงห์ องค์ประกอบของฐานแต่ละอย่างมีอะไรบ้าง สัดส่วนเป็นอย่างไร รวมทั้งแทรกถึงโครงสร้างด้วย ท่านจะเน้นอยู่ตลอดเวลาทั้งความเป็นจริง ความเป็นไปได้ ความถูกต้องของโครงสร้าง ทั้งยังรวมไปถึงความสวยงามด้วย ดังตัวอย่างฐานทุก ๆ ชนิด ตั้งแต่ฐานเขียง ฐานหน้ากระดาน ฐานบัว ฐานสิงห์นั้น แต่ละฐานจะมีลักษณะที่ยื่นออกและเว้าเข้า เสาหรือตัวอาคารที่ตั้งอยู่บนฐานนั้น ๆ จะเลยออกจากส่วนที่เว้าเข้ามากที่สุดไม่ได้ ฐานทุกชนิดจะมีแนวที่เสาหรือตัวอาคารจะต้องไม่ยื่นล้ำออกไปเป็นหลักของโครงสร้างที่เสาจะต้องผ่านลงไปยังพื้นดินเพื่อเป็นคลองรากหรือฐานรองรับตัวอาคารต่อไป



 
                 ในการขึ้นรูปด้านของหลังคาไม่ว่าจะเป็นศาลาขนาดเล็กหรือโบสถ์ขนาดใหญ่ ถ้าหลังคานั้นมีลักษณะลดหลั่นกันหลายตับในแต่ละตับจะต่อเชื่อมกัน ท่านพยายามชี้เน้นถึงความถูกต้อง การให้คะแนนผ่านหรือตกก็ตรงจุดนี้เอง ท่านจะกำชับว่าในการขึ้นรูปด้านหลังคานั้นอย่าขึ้นรูปด้านก่อน แต่จะต้องขึ้นด้านจากโครงสร้าง ไม่ว่าอาคารนั้นจะมีหลังคากี่ตับ กี่ซ้อนก็แล้วแต่ จะต้องเขียนโครงสร้างคือแนวของแป แนวของกลอนรวมถึงแนวของกระเบื้อง การต่อของหลังคาแต่ละตับ ความสูงของหลังคาแต่ละซ้อนให้ถูกต้องตามวิธีการก่อสร้างที่สามารถก่อสร้างได้ นักศึกษาไม่สามารถแย้งท่านได้เลย เพราะเมื่อขึ้นโครงสร้างของหลังคาได้แล้ว การตกแต่งการใส่องค์ประกอบให้เป็นรูปด้านที่สมบูรณ์ ความวิจิตรสวยงาม ความสง่าในเชิงสถาปัตยกรรมไทยจะบังเกิดขึ้นอย่างมหัศจรรย์ ผิดกับการที่เราขึ้นรูปด้านก่อนให้สวยงามตามความพอใจแล้ว เมื่อเขียนโครงสร้างของหลังคาก็จะเกิดปัญหาเส้นโครงสร้างแนวของกระเบื้องไม่ต่อเนื่อง การเชื่อมต่อของหลังคาแต่ละตับต่อกันไม่ได้ ซึ่งจะต้องทำการแก้รูปด้านใหม่








           การที่ท่านต้องเน้นโครงสร้างจุดนี้ก็คือ เส้นของแนวกระเบื้องหรือเส้นของแนวกลอนที่รองรับกระเบื้องแต่ละตับของหลังคามีความลาดที่เป็นองศาไม่เท่ากันปลายของกลอนจะบดให้อ่อนแล้ววางอยู่บนสะพานหนูเหนือเชิงกลอนระยะจากริมในของเชิงกลอนถึงแปหัวเสาจะต้องมีช่องว่างพอให้ตีนผีจากหางหงส์หรือนาคเบือนสอดลงได้จากด้านบน และช่องว่างนี้ต้องมีความกว้างพอที่จะให้รวยระกาหรือลำยองของหลังคาตับล่างสอดเข้าได้พอดี การพอดีนี้ก็คือเส้นแนวกระเบื้องจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมตรงที่ต่อกับเชิงแป ช่องว่างนี้ถ้าแคบไปรวยหรือลำยองจะล้นขึ้นไปติดกับเชิงกลอนจะเป็นผลทำให้แนวของเส้นใบระกาสูงเกินมุมตัดของสะพานหนูกับผิวนอกเชิงกลอน รวมทั้งแนวกระเบื้องยังไม่สามารถสอดเข้าไปใต้เชิงกลอนได้ ตามหลักของสถาปัตยกรรมไทยแล้วเป็นไปไม่ได้
               การเขียนแบบสถาปัตยกรรมไทยไม่ว่าเป็นงานชนิดใดส่งอาจารย์พระพรหมพิจิตรนั้น ถ้าท่านตรวจแบบท่านจะตรวจความถูกต้องตามที่กล่าวมาทั้งที่ฐานของอาคาร การต่อของโครงสร้างที่หลังคาก่อนอื่นถ้าตรวจแล้วผิดไม่ถูกต้อง เป็นไปไม่ได้ตามหลักเกณฑ์ท่านจะให้แก้ใหม่ หรือให้ตกทันที โดยมิตรวจส่วนอื่น ๆ อีก
               วิธีการสอนของท่านทำให้ศิษย์ทุกคนได้รับความรู้ทัดเทียมกัน แต่เรื่องฝีมือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะเท่าเทียมกันทุกคนไม่ได้ ท่านสอนจนศิษย์ทุกคนเขียนแบบได้ด้วยตนเอง เพราะท่านให้งานทำบนกระดาษปอนด์ขาวไม่ให้ใช้กระดาษไขเป็นอันขาด ในสมัยที่ท่านสอนนั้นการเขียนแบบด้วยโต๊ะไฟยังไม่มี ลูกศิษย์ผู้หนึ่งผู้ใดใช้เนื่องจากทุกคนต้องการความรู้ ต้องการเขียนแบบเป็นมิใช่เป็นการศึกษาเพื่อต้องการคะแนนเท่านั้น การลอกแบบหรือที่เรียกกันว่าก๊อปปี้จึงไม่เกิด การเขียนแบบบนกระดาษปอนด์ขาวนั้นคงทราบว่ายาก ยิ่งเขียนแบบสถาปัตยกรรมไทยเมื่อเขียนแล้วลบหลาย ๆ ครั้งกระดาษจะเปื่อยเป็นขุยเมื่อต้องการเปลี่ยนกระดาษ ก็ต้องเริ่มขึ้นทรงกันใหม่เนื่องจากไม่สามารถวางทางหรือลอกใหม่ได้ ดังนั้นงานภาคปฏิบัติแต่ละชิ้นที่อาจารย์พระพรหมพิจิตรให้ จึงมิใช่เขียนเพียงครั้งสองครั้ง การที่เขียนมากทำให้เกิดความชำนาญ สายตาแม่น ความรักความผูกพันในสถาปัตยกรรมไทยจึงซึมซาบเข้าไปในความรู้สึก ดังนั้นจะเห็นได้ว่าศิษย์ที่ได้ผ่านการเรียนกับท่านมาทุกคนจะไม่ทอดทิ้งงานทางสถาปัตยกรรมไทยเลย ถ้ามีโอกาสได้ทำงานก็จะแสดงฝีมือแสดงความสามารถอย่างเต็มที
               การเรียนเขียนแบบสถาปัตยกรรมโดยทั่วไป การเขียนแบบสถาปัตยกรรมนั้นจะต้องขึ้นรูปทรงของหลังคาก่อนแทนที่จะต้องเริ่มต้นจากผังพื้นเหมือนกับเขียนแบบสถาปัตยกรรมแบบอื่น แต่ในการขึ้นทรงของหลังคานั้นอาจารย์จะกำชับเสมอว่า ในสมองของเราจะต้องคิดว่ากำลังคิดหรือออกแบบอาคารชนิดใด ลักษณะของอาคาร ประโยชน์ใช้สอยเป็นอย่างไร ขนาด สัดส่วนจองอาคารเป็นเท่าใด เมื่อสมองคิดอยู่ตลอดเวลาทรงของหลังคาก็จะออกมาสอดคล้องกับงานสถาปัตยกรรมไทยที่ต้องการ เมื่อตรวจสอบความถูกต้องของหลังคา เช่น การซ้อน การต่อของตับ และทรวดทรงรวมทั้งความสวยงามแล้วว่าใช้ได้ จึงจะเริ่มเขียนตัวอาคารต่อไป แต่ถ้าพบว่าผิดมีความเป็นไปไม่ได้ จะต้องแก้ไขทันทีก่อนการเขียนตัวอาคาร ถ้าปล่อยไปการเขียนแบบนั้นจะสูญเปล่าทันที เพราะอาจารย์จะให้ตกดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว








วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สถาปัตยกรรมไทย รำลึก



สถาปัตยกรรมไทยรำลึก

คำนำจากหนังสือ จุลสถาปนิกสาร คณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ .2505

ก่อนที่ชนเผ่าไทยจะอพยพลงมาสู่แหลมทอง ดินแดนส่วนนี้ ก็เจริญรุ่งเรืองตามแบบฉบับบของเชื้อชาติที่ปกครองอยู่ ศิลปะวิทยาการอันรุ่งโรจน์มาตามโบราณกาลนับกว่าพันปี ทำให้โลกยอมรับว่า เอเชียมีแหล่งอารยธรรมอันสูงส่งอีกแหล่งหนึ่งซึ่งมิใช่จีน หรืออินเดีย แต่หากเป็นสุวรรณภูมิ เมื่อชนเผ่าไทยอพยพลงมาสู่แหลมทอง ราวพันปีแล้ว บรรพบุรุษผู้เข้มแข็ง ได้แผ่อิทธิพลขับเคี่ยวกับเจ้าถิ่นเดิมเป็นเวลานาน จนสามารถครอบครองดินแดนส่วนนี้ จากพื้นฐานอันมั่นคง ในทางศิลปะของชนชาติเดิมรวมทั้งอิทธิพลของพุทธศาสนา อารยธรรม และวัฒนธรรมเดิมหลายเผ่าชน เผ่าไทยได้ริเริ่มสร้างสรรค์ศิลปะและ อารยธรรม อันวิจิตร ประณีต ลึกซึ้งและละเอียดอ่อน จนเป็นศิลปะแห่งชาติที่เหมาะสมเป็นสักขีพยานยืนยันว่า ไทยเราก็มีศิลปอารยธรรมอันรุ่งโรจน์ที่ชาวไทยทุกคนควรรู้สึก หยิ่งและภูมิใจ ที่เราเป็นคนไทย

ต่อมาในยุครัตนโกสินทร์ อิทธิพลของชาวยุโรปได้เริ่มครอบงำทั่วภาคพื้นเอเชีย ด้วยพลังในการรบอันเข้มแข็งและวิชาการอันก้าวหน้า ทำให้เขาสามารถควบคุมดินแดนอันอยู่โพ้นทะเลในเอเชียให้อยู่ภายใต้เงื้อมมือ ความเจริญก้าวหน้าแห่งยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของตะวันตก ความมหัศจรรย์แห่งเทคนิควิชาการแผนใหม่ ตลอดจนเครื่องจักร เครื่องยนต์กลไกแบบปัจจุบันได้สั่นสะเทือนถึงรากแก้วแห่งอารยธรรมแบบนามธรรมของเรา ปลุกให้เราตื่นขึ้น บังคับให้เราเอาอย่างเพื่อความคงอยู่ ในระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อของการปรับปรุงประเทศชาติให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อให้เทียบทันอารยธรรมแบบรูปธรรม การพยายามก้าวหน้าอย่างรีบรุด ทำให้ศิลปะ วัฒนธรรมแบบฉบับที่ดีงามของชาติ ได้ถูกทอดทิ้งละเลยโดยไม่มีโอกาสได้รับการประยุกต์ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับกาลเวลา ชาติจึงขาดแบบฉบับที่จะใช้เป็นแนวทางศิลปะ อีกทั้งสถาบันชั้นสูงที่ส่งเสริมควบคุมศิลปะและวัฒนธรรมอันดีงามก็ยังมีน้อย

เหมือนกับเรือที่ขาดหางเสือ หรือเมืองที่ปราศจากปราการ ป้องกันอิทธิพลของชาวต่างประเทศไหลบ่าเข้าดุจดังกระแสธารอันเชี่ยวกราก ลัทธิคลั่งไคลหลงลอกเลียนแบบชาติอื่น โดยไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสมของดินฟ้าอากาศเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ตลอดจนความต้องการอันแท้จริงของประเทศชาติ จึงกลายเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาขึ้นทั่วไป พาณิชยศิลปะ และลัทธิวัตถุนิยมอันถูกประณามว่าเป็นศิลปะชั้นต่ำในต่างประเทศ กำลังไหลบ่าอย่างไม่ขาดสาย สร้างความขัดแย้ง ทำลายความกลมกลืนกับแบบฉบับอันดีงามที่ปรากฏแต่อดีตในขณะนี้ มรดกตกทอดในลักษณะศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ กำลังเสี่ยงต่อความหายนะเป็นอย่างยิ่ง

ตามสภาพการณ์ที่ปรากฏอยู่ย่อมเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วว่าเราไม่อาจนำศิลปนามธรรมแบบโบราณมาใช้ให้เกิดผลดีต่อไป ในขณะเดียวกับการลอกเลียนแบบ ยืมจมูกต่างประเทสมาหายใจโดยมิได้คำนึงถึงความจำเป็นและเหมาะสม ก็เป็นการทำลายเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งชาติ และจะไม่เป็นการอำนวยให้เกิดศิลปะที่ถูกต้อง ฉะนั่นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมในแนวใหม่ ในลักษณะที่สอดคล้องกลมกลืน และต่อเนื่องเป็นวิวัฒนาการกับอดีตแห่งความรุ่งโรจน์ เทคนิคปัจจุบันจะถูกนำมาปรับใช้ เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้า ตามความจำเป็นแห่งยุคสมัย นั่นคือ ภาระและหน้าที่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรได้รับมอบหมายให้แก้ปัญหาอันยิ่งใหญ่ของชาติ และด้วยแรงปณิธานอันนี้ เรา คณะสถาปัตยกรรมไทย จักขอยืนหยัดอยู่ต่อไป ในอันที่จะสร้างสรรค์จรรโลง ส่งเสริมศิลปะ และสถาปัตยกรรมแห่งชาติให้ก้าวหน้า เจริญตามวิถีทางที่ดี ที่ถูก ที่ควรต่อไป.



อ่านเพิ่มเติม

วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วารสารหน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย ฉบับที่ 6

เนื้อหาภายในเล่ม

ณ.ที่นี้ไม่มี"ความเสื่อม" : ถนนราชดำเนิน พ.ศ.2484-2488

A place without " Cultural Slackness" Rajadamnern

Bouleyard , 1941 -45

สัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญกับประติมานวิทยาทางการเมืองในเขตวัฒนธรรมล้านนา พ.ศ. 2475 - 2490

Symbol of the constitution in lanna political Iconography,

1932 - 1947 A.D.

มณฑป วัดศรีชุม : มุมุมองใหม่

The Mondop at Wat Si Chum : New perspectives

การจัดการ...พื้นที่เมือง...เพื่อสร้าง ..พื้นที่ประเทศไทย..ทศวรรษ 2500

The Management of " Urban Space " to produce " Space of Thailand"

arround 1960's


พัฒนาการของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงในช่วงฤดูน้ำหลาก

: พื้นที่ศึกษา บ้านเกาะหงษ์ ตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์

Devopment of Vernacular Architecture in Relation to Changes in Flooding Season : Cast study at Ban Kohong Takianluean Sub - Distric,Nakhon Sawan Distric , Nakon Sawan Provice


คลองแสนแสบ : ความสำคัญในฐานะเส้นทางเดินทัพไทย-กัมพูชา

Saen Saep canal : In context of armed forces way between Thailand and Cambodia




วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม














หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
 สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม
 
ชื่อหลักสูตร
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม
Master of Arts Program in History of Architecture
 
ชื่อปริญญา
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม)
ศศ.ม. (ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม)
Master of Arts (History of Architecture)
M.A. (History of Architecture)
 
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
เพื่อผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม
การวิจัย และ การอนุรักษ์สถาปัตยกรรม 
ซึ่งสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย อาทิเช่น อาจารย์
นักเขียนทางด้านสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ 
นักวิจัย มัคคุเทศน์ และนักอนุรักษ์สถาปัตยกรรม เป็นต้น
 
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษา
สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิตในสาขาวิชาที่มีการเรียนการสอนด้าน
   ประวัติศาสตร์ศิลป์ ทัศนศิลป์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ หรือ สถาปัตยกรรมไทย
มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยศิลปากรว่าด้วยการศึกษา   
   ระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2550
 
จำนวนหน่วยกิต
กำหนดให้ศึกษารายวิชาไม่น้อยกว่า 43 หน่วยกิต
เป็นการศึกษาแบบทำวิทยานิพนธ์
(ไม่มีการสอบประมวลความรอบรู้)
 
ระยะเวลาการศึกษา
2 ปีการศึกษา แต่ไม่เกิน 5 ปีการศึกษา